หน้ากากอนามัย (Protective Mask) มีด้วยกันหลายชนิด การเลือกใช้อย่างเหมาะสมจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ
ของทางเดินระบบหายใจ และยังสามารถป้องกันอันตรายจากสารพิษของฝุ่นละอองบางประเภทได้ด้วย
เราสามารถแบ่งหน้ากากอนามัยออกเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่
1. แบ่งตามมาตรฐานประเทศในแถบยุโรปตามลักษณะภายนอก
- 1.1 ชนิดคลุมเต็มใบหน้า (Full Face Mask) ครอบคลุมทั่วทั้งใบหน้า
- 1.2 ชนิดคลุมครึ่งใบหน้า (Half face Mask) เมื่อสวมใส่แล้วจะครอบคลุมบริเวณ จมูก ปากและคาง
- 1.3 ชนิดคลุม ¼ ของใบหน้า (Quarter Face Mask) เมื่อสวมใส่แล้วจะครอบคลุมเฉพาะบริเวณ จมูก และปาก
2. แบ่งตามลักษณะการใช้งาน
- 2.1 หน้ากากป้องกันก๊าซพิษ เช่นหน้ากากคาร์บอนฟิลเตอร์ ความสามารถในการป้องกันก๊าซพิษขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของฟิลเตอร์ที่นำมาใช้
- 2.2 หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง ผลิตจากเยื่อกระดาษ หรือผ้า อาจมีหรือไม่มีฟิลเตอร์ก็ได้ สำหรับบุคคลที่ประกอบอาชีพที่อยู่ท่ามกลางฝุ่นเช่นในโรงงานปูน โม่หิน หรือในโรงงานอุตสาหกรรมอิเลคโทรนิคที่ต้องระมัดระวังเรื่องฝุ่นละอองเป็นพิเศษ ไม่ให้น้ำลายจากผู้ปฏิบัติงานกระเด็นปนเปื้อนไปกับชิ้นงาน หรือสำหรับแม่บ้านสวมใส่ขณะทำความสะอาดบ้าน เชื้อโรคที่มีขนาดใหญ่กว่า Pore size นั้นจะถูกกรองไว้ จะมีชนิด N,R,P ซึ่งจะมีหรือไม่มีช่องสำหรับหายใจออก exhalation valve ก็ได้ ข้อดีของหน้ากากชนิดนี้คือใช้แล้วทิ้ง ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์สำหรับทำความสะอาดทั้งยังมีน้ำหนักเบาและสวมใส่ง่าย
ข้อเสียของฟิลเตอร์ชนิดนี้คือมักจะหายใจลำบากเนื่องจาก มีการถ่ายเทของอากาศไม่ดีเพราะ Pore size ขนาดเล็กเป็นตัวปิดกั้นไว้ ทำให้ไม่สามารถสวมใส่เป็นเวลานานๆได้ หน้ากากชนิดนี้จะกรองเชื้อได้แตกต่างกัน เช่น N-95 สามารถกรองเชื้อที่มีขนาดอนุภาคใหญ่กว่า 300 นาโนเมตร หรือ 0.3 ไมครอนได้ 95% ซึ่งแบคทีเรียและไวรัสที่มีขนาดเล็กกว่า 300 นาโนเมตรเท่านั้นจึงจะสามารถผ่านเข้าไปได้
- 2.3 หน้ากากที่ใช้สวมในขณะผ่าตัด Surgical mask เป็นหน้ากากที่สวมขณะผ่าตัดเพื่อป้องกันเลือดหรือเสมหะของผู้ป่วยที่อาจกระเด็นเข้าปากและจมูกของแพทย์ผ่าตัด และป้องกันเสมหะหรือน้ำลายของแพทย์ที่จะไปปนเปื้อนบริเวณที่จะผ่าตัด ไม่ควรนำหน้ากากนี้มาใช้กับคนที่ป่วยเป็นวัณโรคหรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ เพราะไม่สามารถป้องกันได้
- 2.4 หน้ากากชนิดเปลี่ยนไส้กรอง เป็นหน้ากากที่สามารถเปลี่ยนไส้กรองอากาศได้ สามารถนำมาใช้ใหม่ แต่ต้องหมั่นทำความสะอาด หน้ากากชนิดนี้มีน้ำหนักเบา ใช้ได้สะดวก เนื่องจากทำด้วยยางจึงใช้ได้นาน สามารถเปลี่ยนไส้กรองก็นำมาใช้ใหม่ได้ แต่จะสื่อสารกับคนอื่นลำบากและไม่สามารถใช้ในห้องผ่าตัด
- 2.5 หน้ากากชนิดที่มีอากาศหายใจ เป็นหน้ากากที่มีมอเตอร์ดูดอากาศจากสิ่งแวดล้อม ผ่านเครื่องกรองอากาศแล้วส่งผ่านไปยังภายในหน้ากาก
- 2.6 หน้ากากป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ (Respiratory Protective Mask) เป็นหน้ากากที่ออกแบบมาให้มีคุณสมบัติในการป้องกันการติดเชื้อโรคในระบบทางเดินหายใจ หน้ากากชนิดนี้จะต้องมีฟิลเตอร์หรือระบบกรองเชื้อโรค ซึ่งมีทั้งแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือสามารถซักล้างและนำกลับมาใช้ได้ใหม่ โดยระบบการกรองนั้นจะแตกต่างกันไปตามคุณสมบัติของฟิลเตอร์ เช่น
- ระบบการกรองเชื้อโดยอาศัยช่องว่าง (Pore size) ขนาดเล็กของฟิลเตอร์ในการกรองอนุภาคขนาดเล็ก
- ระบบการกรองด้วย Electrostatic หรือระบบไฟฟ้าสถิต ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ บริษัทแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนาขึ้นมา โดยการเคลือบสารไฮดรอกซีอะพาไทต์ลงบนฟิลเตอร์ซึ่งสารชนิดนี้มีคุณสมบัติเป็น Electrostatic สามารถกรองเชื้อไวรัสได้มากกว่า 98 % ( 98% Viral Filtration Efficiency) ทดสอบโดยห้องปฏิบัติการ Nelson Laboratories ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีชื่อเสียงในการทดสอบคุณสมบัติการกรองของฟิลเตอร์ ข้อดีของหน้ากากชนิดนี้คือไม่ทำให้หายใจลำบากเนื่องจากระบบการกรองเป็น Electrostatic ไม่ใช้ Pore size ขนาดเล็กเป็นตัวกรองเชื้อ ผู้สวมใส่จึงหายใจได้สะดวก สามารถสวมใส่ได้เป็นเวลานาน โดยไม่ทำให้อึดอัดทั้งยังมีน้ำหนักเบา และฟิลเตอร์นี้ยังสามารถนำไปซักล้างได้ โดยยังมีคุณสมบัติในการกรองเชื้ออยู่ และแน่ใจได้ว่าสารไฮดรอกซีอะพาไทต์ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย เนื่องจากสารชนิดนี้เป็นโมเลกุลชนิดเดียวกับโมเลกุลที่เป็นโครงสร้างของกระดูก หน้ากากชนิดนี้สามารสวมใส่ได้โดยทั่วไป รวมทั้งในห้องปฏิบัติการโรคติดเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคมายังผู้ปฏิบัติงาน
เมื่อทราบข้อมูลเบื้องต้นในการเลือกใช้หน้ากากอนามัยกันแล้ว ก็อยากให้ทุกท่านเลือกใช้หน้ากากอนามัยให้เหมาะกับจุดประสงค์ เพราะโรคติดเชื้อนั้นหากเป็นแล้วรักษายาก การป้องกันง่ายกว่าคะ และที่สำคัญการสวมใส่หน้ากากเมื่อท่านป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจก็เป็นการป้องกันการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี เรามาช่วยรณรงค์ลดการแพร่เชื้อทางเดินหายใจด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อตนเองและผู้อื่นกันเถอะ