Register Here   

ติดต่อผ่าน Line

@Sirasafety

เยี่ยมชมร้านค้าของเรา

เพื่อนบ้าน

  • BW-LINKs.com

วิธีการกู้เครื่องจักรหลังถูกน้ำท่วม

การฟื้นฟู ซ่อมแซมเครื่องจักรและอุปกรณ์แต่ละชนิดและการเตรียมการเดินเครื่องจักร

ในสถานการณ์ที่น้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายสิบปี ซึ่งภาวะน้ำท่วมส่งผลต่อเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในโรงงานที่ไม่สามารถย้ายได้ทัน จึงได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะปัจจุบันเครื่องจักรและอุปกรณ์ส่วนใหญ่จะใช้ระบบไฟฟ้าและ ระบบอิเลคทรอนิกส์ควบคุมน้ำ และ ความชื้น เป็นภัยที่ร้ายแรงต่อเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้โลหะเกิดการสึกกร่อน ชำรุดเสียหาย หลุดหลวมเป็นสนิม อุปกรณ์เสื่อมสภาพ ส่งผลกระทบต่อสภาพการใช้อย่างปลอดภัย การแก้ไขและฟื้นฟูระบบไฟฟ้ากำลังและเครื่องจักรในกระบวนการผลิตจึงควรเร่งดำเนินการ เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถกลับมาผลิตสินค้าได้ตามเดิม ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์ ตรวจสอบ ซ่อมแซม รวมถึงต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่หรืออุปกรณ์ใหม่เพื่อทำให้ระบบไฟฟ้ากำลังและกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยและถูกต้อง




1.  การฟื้นฟู ซ่อมแซมเครื่องจักรและอุปกรณ์แต่ละชนิด

     หลังจากน้ำลด ทุกระบบของเครื่องจักรจะได้รับความเสียหายทันที โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า และ อิเลคทรอนิคส์ ทั้งนี้ระบบแมคคานิค ยังคงแก้ไขได้ไม่ยากหากจมน้ำแค่อาทิตย์สองอาทิตย์ หากมากกว่านี้ก็เป็นปัญหากู้คืนยาก เพราะเหล็กจะถูกกัดกล่อนไปเรื่อยๆ จนมีขุยหรือตะกอนผุดขึ้นมาหากจมน้ำนานๆ  หลังจากน้ำลดให้ถอดการ์ด Cover ออกให้หมดแล้วรีบทาน้ำมันรางไสลด์ทุกแกน หรือบอลสกรูทันทีเพื่อป้องกันสนิม  ไม่ควรให้สนิมแดงขึ้นเพราะทำให้ดำเนินการยากยิ่งขึ้น เสียเวลาในการขัด หรืออาจจะต้องส่งเจียรนัยรางไสลด์ สำหรับส่วนที่เป็น LM Guide ก็ต้องทำเช่นเดียวกัน และเป็นการที่ดีควรจะเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าต่อไปนี้ใหม่มากกว่าพยายามที่จะซ่อมแซมเพื่อให้ใช้งานได้ ได้แก่ เต้ารับไฟฟ้า, สวิตช์ไฟฟ้า ,หลอดไฟฟ้า,และอุปกรณ์ประกอบ, แผงควบคุมระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ และเครื่องมือวัดต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงต้องทำการวัดค่าความเป็นฉนวนของสายไฟฟ้าและสายคอนโทรลทั้งหมดและต้องเปลี่ยนสายใหม่หมดในกรณีที่ค่าความต้านทานของฉนวนที่วัดได้มีค่าน้อย โดยกิจกรรมการฟื้นฟู ซ่อมแซมเครื่องจักรและอุปกรณ์แต่ละชนิด มีดังนี้
     • ระบบไฟฟ้า
​     อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกตัวต้องเปลี่ยน เพื่อความปลอดภัย เมื่อมีน้ำมันเข้าไปใน Relay, Megnatic Contractor, Timer, Overload, Braker และอุปกรณ์ต่างๆอีกมากมาย ไม่คุ้มหากเปิดแล้วจะเกิดการระเบิด รวมถึงสายไฟทุกเส้น ก็ควรจะทำการเปลี่ยนเช่นเดียวกัน หากน้ำเข้าไปในสายไฟความชื้นก็จะสะสมเยอะ รวมถึงน้ำที่เข้าไปแล้วก็จะไม่มีวันออก เพราะสายเดิมค่อนข้างแข็งกระด้างอยู่แล้ว เนื่องจากฤทธิ์น้ำมันทำให้ยางปลอกสายไฟแข็ง ถ้าจ่ายไฟเข้าไปจะเกิดปัญหาใหญ่ได้
     • ระบบคอนโทรล เช่น FANUC, MITSUBISHI, YASNAC
​     ก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาล อุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ หากจมน้ำนานๆ ก็จะทำให้เกิดสนิมกัดกร่อน และลายปริ้นต์ของบอร์ดก็จะถูกลอกออก รวมถึงความชื้นในแผ่นปริ้นต์ก็จะชุ่มไปด้วยน้ำ รวมถึงเศษ หิน ดิน ทราย ที่จะเข้าไปอยู่ใต้ IC อีกจำนวนมาก โอกาสซ่อมได้มีแค่  10%   อาจจะแก้ไขได้โดยการลอง อบแผง ไล่ความชื้นและพยายามทำความสะอาดแล้วลองเทสดู ส่วน Motor ทั้งหลายทั้ง Servo Motor, Spindle Motor โอกาสที่จะซ่อมได้มี 80% หาก Motor จมน้ำไปแล้ว ห้ามจ่ายไฟเข้าเด็ดขาด ต้องส่งอบไล่ความชื้น และทาน้ำยาแล้วนำมาอบมาใหม่ รวมถึง Bearing ข้างในทุกลูกก็ต้องเปลี่ยนใหม่หมด อย่าเสี่ยงใช้ของเก่า เพราะ เศษ หิน ดิน ทราย เข้าไปใน Bearing ทำให้ความแม่นยำของลูกปืนลดลงทันทีจะก่อให้เกิดความเสียหายในเวลาต่อมา ส่วน Encoder หลังก้น Motor อันนี้เป็นอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ โอกาสซ่อมได้มีแค่ 10% ส่วนเรื่องจอภาพ CRT นั้น 80% สามารถซ่อมได้ แต่จอ LCD ควรเปลี่ยนใหม่ เพราะถ้าน้ำเข้าไปแล้วค่อนข้างจะซ่อมยาก
     • ระบบเครื่องกล
    - Spindle Unit เป็นอุปกรณ์ที่โดยทั่วไปจะป้องกันน้ำอยู่แล้ว เพราะจะมีโอริงกันน้ำเข้าไปด้านใน แต่อย่างไรเสียก็ต้องรื้อมาดูก่อนเพราะจะมีรูน้ำมันที่เข้าไปเลี้ยง Spindle Bearing น้ำอาจจะเข้าทางนี้ก็ได้ รวมถึงระบบ Oil Cooler หากน้ำท่วมแท้งค์นี้ก็ถอดออกมาล้างอย่างเดียว อย่าฝืนเปิดเด็ดขาด หากน้ำเข้าได้จะเกิดสนิม หากเครื่องจักรท่านเก่าอยู่แล้วควรถือโอกาสเปลี่ยน Spindle Bearing จะเป็นการดี
     - Ball Screw และ Support Bearing ของทุกแกน ต้องดูสภาพรางที่เม็ดลูกบอลวิ่ง หากถูกกัดกร่อนเป็นตามด ควรเปลี่ยนใหม่อย่างเดียวซ่อมไม่ได้ หากไม่มีตามดสามารถถอดรางมาขัดใหม่แล้วเปลี่ยนเม็ดบอลใหม่ได้ อันนี้ไม่ยากเท่าไหร่ ส่วน Support Bearing หัวและท้ายควรเปลี่ยนใหม่เพราะจะมีเศษ หิน ดิน ทราย เข้าไป
     - ชุดไฮโดรลิค ควรถอดมาล้างใหม่  ส่วนมอเตอร์ให้นำไปส่งอบ ส่วนที่ไปเลี้ยงหัวป้อมมีดหรือชุด Tool Clamp/Unclamp ให้รื้อและเปลี่ยนทำความสะอาดและเปลี่ยน O-RING ใหม่หมด จะได้ระบายน้ำออกจากจุดที่เรามองไม่เห็น เช่นเดียวกันกับชุดน้ำมันหล่อเลี้ยงไสลด์แกน ให้ถอดอกมาทำความสะอาดใหม่หมดเช่นกัน
     - ชุด ATC จับเปลี่ยนทูล แกะ Cover ออกมาเพื่อระบายน้ำออกและทำความสะอาดชุด CAM หากมี O-RING ให้เปลี่ยนใหม่ทั้งหมด
     - มอเตอร์ (Motor Repair)  น้ำท่วมอาจจะทำให้ส่วนประกอบต่าง ๆ ของมอเตอร์ได้รับความเสียหาย ได้แก่ฉนวน, สวิตช์, คอนแทกเตอร์, คาปาซิเตอร์ และรีเลย์ป้องกัน รวมถึงการผุกร่อนของส่วนที่เป็นโลหะ และการปนเปื้อนของสารหล่อลื่นของมอเตอร์ การซ่อมมอเตอร์เป็นงานหลักของการฟื้นฟูโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วม การรวบรวมรายละเอียดของมอเตอร์ที่ต้องซ่อมแซมเพื่อจัดทำเป็นเอกสารมีขั้นตอนเช่นเดียวกันกับอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดอื่น ๆ แต่ก็มีข้อมูลบางรายการที่ต้องเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ในการติดตามความคืบหน้าของงานซ่อมแซม ได้แก่

 


* บันทึกข้อมูลบน Nameplate และข้อมูลแสดงตำแหน่งของมอเตอร์
* ติดป้ายหมายเลขแท่นเครื่องและมอเตอร์ให้มีหมายเลขเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายในการจับคู่และนำมอเตอร์มาวางลงบนตำแหน่งที่ถูกต้อง
* ทำเครื่องหมายและบันทึกข้อมูลของจุดต่อสาย
* บันทึกข้อมูลการ Coupling และเงื่อนไขของการ Coupling
* รวบรวมชิ้นส่วนสำหรับติดตั้งมอเตอร์ เช่น Mounting Hardware, Coupling and Shim เก็บชิ้นส่วนเหล่านี้ของมอเตอร์แต่ละตัวในถุงพลาสติก ซีลให้เรียบร้อยแล้ว อาจใช้ถุงพลาสติกแบบมีซิปล็อกก็ได้
​ตามมาตรฐานของ NEMA ได้ยอมรับให้ซ่อมมอเตอร์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมได้ แต่ก็ไม่เสมอไปที่จะช่วยประหยัดเงินด้วยการซ่อมมอเตอร์ ดังนั้นการวิเคราะห์ต้นทุน (Cost Analysis) จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยการตัดสินใจว่าจะซ่อมมอเตอร์หรือเปลี่ยนมอเตอร์ใหม่
 
2.  การเตรียมการเดินเครื่องจักร


ก่อนจะเริ่มเดินเครื่องจักรครั้งแรก จะต้องเตรียมการดังต่อไปนี้
- การใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำ หรือคู่มือการใช้ของผู้ผลิต และใช้ภายนอกอาคาร เนื่องจากไอคาร์บอนมอนออกไซด์ไม่มีกลิ่นและจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอาคาร
- ตรวจสอบการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าต้องเลือกใช้สายไฟที่มีขนาดและชนิดที่เหมาะสมต่อภาระกระแสไฟฟ้า เนื่องจากสายไฟที่มีภาระเกิน (Over load) มีความร้อนสูงทำให้เพลิงไหม้ได้ และต้องไม่เดินสายไฟไว้ใต้พรหม เนื่องจากจะทำให้เกิดความร้อนและอาจเกิดความเสียหายต่อสายไฟโดยไม่ทันได้สังเกต และควรเติมเชื้อเพลิงเครื่องกำเนิดไฟฟ้านอกอาคารเสมอ
- ไม่ต่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเข้ากับแหล่งจ่ายไฟฟ้าอื่น เช่น สายไฟฟ้า เพราะอาจเกิดการไหลย้อนหรือจ่ายย้อยทำให้ไฟฟ้าซ๊อตผู้ปฏิบัติงานได้
- ควรใช้งานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดเคลื่อนที่ให้ห่างจากประตู หน้าต่าง และช่องระบายอากาศ
- ไม่เดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในโรงรถที่ติดอยู่กับตัวบ้าน หรือระเบียงที่ปกปิด
- เครื่องจักร มอเตอร์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ถูกน้ำท่วม มีการเช็ดทำความสะอาดและบำรุงรักษาโดยช่างผู้ชำนาญการเดินเครื่อง ก่อนเดินเครื่องต้องตรวจสอบสายดินว่ามีการยึดแน่นหนา และไม่เป็นสนิม
- อุปกรณ์ป้องกัน (Breaker) สายไฟ และจุดต่อต่าง ๆ ต้องอยู่ในสภาพที่ไม่ชำรุดเสียหาย มีสภาพที่ปลอดภัยต่อการใช้งานอย่างสมบูรณ์
- วัดแรงดันไฟฟ้าว่าตรงตามที่ต้องการหรือไม่
- ตรวจสอบการเชื่อมต่อของสายไฟฟ้าทั้ง L, N, PE
- เมื่อตรวจสอบการติดตั้งของระบบไฟฟ้าแล้ว ทำการทดสอบระบบ Load โดยเชื่อมต่อ Load เข้าสู่ระบบไฟฟ้า (โดยทำการเชื่อมต่อ Load ทีละชุด และทำการตรวจสอบระดับแรงดัน, กระแส, กำลังไฟฟ้า, (อุณหภูมิของ Load และสายไฟ, จุดต่อ) ไฟฟ้ารั่วในระบบ
- ตรวจเช็คสภาพมอเตอร์ในขณะ Run เกิดปัญหาต่าง ๆ หรือไม่เช่น Looseness, Unbalance miss alignment, Bearing
- หากปฎิบัติตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังประสบปัญหาอยู่ควร Shutdown ระบบและติดต่อกับ Supplier ของระบบเครื่องจักร


- การตรวจสอบการลัดวงจร (Short) ของระบบไฟฟ้า ควรยืนบนพื้นฉนวนในขณะที่ทดสอบระบบไฟฟ้าหรือควรยืนบนพื้นที่แห้งและสวมถุงมือกันไฟฟ้าทำการทดสอบความเป็นฉนวนของตู้สวิทซ์หลักและระบบไฟฟ้าย่อยโดยวัดความเป็นฉนวนดังนี้
• วัดความเป็นฉนวนของ Circuit Breaker ภายในตู้ MDB ในแต่ละเฟสโดยทดสอบเฟส-เฟส, เฟส-นิวทรอน, เฟสเทียบกราวด์
• ทำการตรวจสอบสายไฟฟ้า สภาพสายไฟจะต้องสมบูรณ์ไม่แตกร้าว ไม่บวม
• สายไฟฟ้าไม่บาดกับโลหะจับยึดสายไฟ
• ตรวจวัดด้วยเครื่องวัดความเป็นฉนวน (Insulation Tester) เพื่อยืนยันให้แน่นอนว่าสายไฟฟ้าดังกล่าวพร้อมใช้งานหรือมีความเสียหายไปแล้ว
• วัดค่าความเป็นฉนวนระหว่างสาย L-N, L-PE, N-PE โดยการวัดจะต้องเป็นการวัดระหว่างตัวนำกับตัวนำเท่านั้น โดยที่จะต้องปลดสายไฟฟ้าจากสวิทซ์หลักและอุปกรณ์ไฟฟ้า (Load) จะต้องได้ค่าไม่ต่ำกว่า 0.5 เมกกะโอห์ม โดยใช้ระดับแรงดันไฟฟ้ากระแสตรงทดสอบไม่ต่ำกว่า 500 V เป็นเวลาต่อเนื่องไม่ควรต่ำกว่า 30 วินาที ตามมาตรฐาน IEC 6036
• ตรวจสอบค่าความเป็นฉนวนของอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ต่าง ๆ
• วัดค่าความเป็นฉนวนของสายไฟที่เชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ในกรณีที่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า 3 เฟส
• วัดสายไฟ เฟสเทียบเฟส
• วัดสายไฟเฟสเทียบนิวทรอน (ต้องปลดอุปกรณ์)
• วัดสายไฟนิวทรอนเทียบกราวด์ (โครง)
• วัดสายไฟเฟสเทียบกราวด์ (โครง)

วันที่ : 28/12/2011, 11:18 แก้ไขล่าสุด : 28/12/2011, 11:19