สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการป้องกันศีรษะ (HEADPROTECTION)
การบาดเจ็บที่ศีรษะ (ไม่รวมนัยน์ตา) จะไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนักเมื่อเทียบกับการบาดเจ็บที่บริเวณส่วนอื่นอันเนื่องมาจาการปฏิบัติงาน แต่ก็เป็นสาเหตุให้เกิดอาการสาหัสได้เพราะศีรษะมีความเกี่ยวเนื่องกับสมองโดยตรง
หากไม่ปกป้องศีรษะให้ดีแล้วอาจทำให้เกิดอันตรายสำคัญ 2 ประการ คือ (1). สมองกระทบกระเทือน (2). กะโหลกศีรษะร้าว อันตรายดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้หากศีรษะไปกระแทกกับของแข็งหรือวัสดุอื่นๆ
1. การกระทบกระเทือนทางสมอง
การบาดเจ็บทางสมองอาจมีผลมาจากการเคลื่อนตัว อย่างรุนแรงฉับพลันของสมองซึ่งอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ ทำให้สมองไปชนกับกะโหลกศีรษะด้านใดด้านหนึ่ง และขาดหลุดออกจากกะโหลกศีรษะอีกด้านหนึ่ง นอกจากนี้ยังอาจทำให้เส้นเลือดฝอยที่เลี้ยงสมองฉีกขาดออกจากเยื่อสมองที่ยึดอยู่ได้ ระดับความรุนแรงของอาการบาดเจ็บขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง ของการกระแทกโดยมีอาการตั้งแต่อาการบาดเจ็บทางสมองแบบชั่วคราว (ช็อก) หรือเสียหายแบบถาวร (สมองใช้งานไม่ได้ อาการโคม่า หรือเสียชีวิต)
2. กะโหลกศีรษะร้าว
อาการอีกอย่างหนึ่งของการบาดเจ็บทางศีรษะคือ กะโหลกศีรษะร้าว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่ควรจะร้ายเท่าอาการร้าวของกระดูกส่วนอื่นๆ แต่ว่าหากกะโหลกศีรษะแยกตัวออกจนกระทั่งวัตถุแปลกปลอมอื่นๆ สามารถเข้าไปในช่องสมองได้อาจทำให้เกิดความเสียหายของสมองแบบถาวรได้สภาพกะโหลกศีรษะร้าว อาจเกิดขึ้นหากแรงกดดันภายในบริเวณกะโหลกศีรษะสูงขึ้นถึงจุดหนึ่ง ยิ่งบริเวณที่ถูกกดดันเล็กเท่าใดแรงกดดันจะสูงขึ้นเท่านั้น และโอกาศที่กะโหลกศีรษะจะแยกออกจากกันก็มีมากขึ้น
การป้องกัน
หมวกนิรภัยเป็นอุปกรณ์ ที่ได้รับการยอมรับและนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางโดยถือเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่ง ที่สำคัญในการป้องกันอันตรายในโรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบัน พนักงานจำนวนมากจะปลอดภัยจากอาการบาดเจ็บสาหัสและรอดชีวิตจากอุบัติเหตุเมื่อสวมหมวกที่มีความแข็งแรงทนทาน
หมวกนิรภัยควรมีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือ:
1. ทำให้แรงกระแทกเบาลงและลดแรงกดดันที่ศีรษะ
2. กระจายแรงกระแทกให้เป็นบริเวณกว้างขึ้นเพื่อลดความรุนแรงของแรงกระแทกลง
องค์การเกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกันทางอุตสาหกรรม (ISEA) กล่าวว่า ไม่ควรละเลยในการบำรุงรักษาหมวกที่ใช้ในการทำงาน เพราะนอกเหนือไปจากประโยชน์ดังกล่าวเบื้องต้นแล้ว หมวกนิรภัยยังช่วยป้องกันอันตรายสภาวะแวดล้อมอื่นๆ เช่น ความร้อน ความเย็น สารเคมีต่างๆ รวมทั้งแสงอุลตร้าไวโอเล็ตอีกด้วย
หมวกนิรภัยโดยทั่วไป จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกันคือ:
1. หมวกนิรภัยชนิดขอบเต็ม (SAFETY HELMET)
2. หมวกนิรภัยชนิดมีกระบังหมวก (SAFETY CAP)
หมวกนิรภัยชนิดขอบเต็ม (SAFETY HELMET) จะมีขอบหรือปีกโดยรอบตัวหมวก ในขณะที่หมวกนิรภัยแก๊ป (SAFETY CAP) จะมีแต่กระบังหน้ายื่นออกมาตรงบริเวณส่วนเหนือหน้าผากเท่านั้น หมวกนิรภัยทั้ง2ชนิด ต่างประกอบไปด้วยส่วนประกอบสำคัญด้วยกัน 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นเปลือกและส่วนที่เป็นรองในหมวก โดยทั้ง 2 ส่วนจะทำหน้าที่ในการป้องกันอันตรายที่จะมีต่อศีรษะของผู้สวมใส่ พร้อมๆกันและที่สำคัญคือ: ทั้ง 2 ส่วนนี้จะต้องมีการตรวจสอบและบำรุงรักษาไปพร้อมๆ กันเสมอ
รูปแบบพื้นฐานของหมวกนิรภัยมี 2 แบบคือ ชนิดขอบยื่นออกมาโดยรอบ และชนิดมีแต่กระบังหน้าเท่านั้น แบบที่สองเหมาะที่จะใช้ในสถานที่แคบๆ หมวกนิรภัยทั้ง 2 แบบนี้อาจมีสายรัดคางเพิ่มขึ้นเพื่อยึดไม่ให้หมวกถูกกระแทกหลุด หรือถูกลมพัดปลิวออกไป
ระบบรองในหมวกมีส่วนสำคัญพอๆ กับตัวเปลือกหมวก ประโยชน์ได้ชัดคือ ช่วยยึดให้เปลือกหมวกติดอยู่กับศีรษะเพื่อให้ผู้สวมใส่เคลื่อนไหวไปมาได้สะดวก โดยที่หมวกไม่หลุดออกจากศีรษะ นอกจากนั้นรองในหมวกยังช่วยยึดหมวกให้มีช่องว่างเพียงพอเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
จุดประสงค์หลักของรองในหมวกคือ เพื่อลดแรงกระแทกจากตัวเปลือกหมวกสู่ศีรษะของผู้สวมใส่ ด้วยเหตุนี้เองระบบรองในหมวกจึงมีความสำคัญมาก และต้องการการดูแลให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดีอยู่เสมอ
สายรัดศีรษะของรองในหมวกจะช่วยลดแรงกระแทกลง โดยจะรับแรงกระแทกไว้ในขณะที่เปลือกหมวกจะช่วยกระจายแรงกระแทกออกไป นอกจากนี้ระบบรองในหมวกจะทำให้เกิดมีระยะห่างระหว่างตัวรองในและเปลือกหมวกขึ้น ระยะดังกล่าวนี้เองจะทำให้แรงกระแทกของวัตถุที่มาตกกระทบลดลงไป วิธีนี้ให้หลักการเดียวกับการเบรคของรถยนต์กล่าวคือ ยิ่งระยะเบรคห่างเท่าใด แรงเบรคที่เหยียบเบรคก็น้อยลงเท่านั้น เป็นผลให้แรงที่ผลักคนขับออกไปด้านหน้าลดลงตามไปด้วย ในทำนองเดียวกันถ้าเบรคในระยะกระชั้นชิด จะทำให้มีแรงกระชากไปด้านหน้ามากขึ้นการเบรคให้รถหยุดมีหลักอยู่ว่า จะต้องลดแรงขับเคลื่อนของรถลง โดยทำให้แรงกระจายออกไป การใช้แผ่นเบรคกดลงไปบนล้อจะมีผลให้แรงดันล้อกระจายออกไปที่แผ่นเบรคทำให้แรงขับเคลื่อนไปข้างหน้าลดลง
หมวกนิรภัยก็ใช้หลักการเดียวกันกับการเบรคของรถคือ กระจายแรงที่มากระแทกของวัตถุที่มากระทบหมวกออกไป ทำให้แรงกระแทกเบาลง ช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดต่อศีรษะได้
อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวมานี้ จะได้ผลก็ต่อเมื่อเปลือกหมวกมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะกระจายแรงกระทบออกไปมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นอกจากนี้บริเวณที่ต้องรับแรงกระทบกระแทกควรมีความกว้างและลาดลง เพื่อช่วยให้การกระจายแรงที่มากระทบหมวกออกไป และป้องกันไม่ให้หมวกแตกร้าวได้
รองในหมวกและเปลือกหมวก จะต้องมีระยะห่างกันที่เหมาะสมเพียงพอเพื่อรองในหมวกสามารถลดแรงกระแทกจากวัสดุให้ลดลงน้อยที่สุด เป็นการป้องกันอันตรายต่อศีรษะได้ดีที่สุด
ผู้ใช้หมวกนิรภัยควรตรวจสภาพหมวกอย่างสม่ำเสมอ สมาคม ISEA กล่าวไว้ว่าหากพบรอยร้าวแม้มีขนาดเล็กน้อยเท่าเส้นผมก็ควรเปลี่ยนหมวกใหม่โดยทันที เพราะว่ารอยร้าวดังกล่าวจะขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ หากใช้งานอยู่ต่อไป
นอกจากนี้ ควรตรวจดูว่ามีการชำรุดเสียหายบนหมวก เช่น มีรู หรือรอยทะลุหรือไม่ หมวกที่ใช้งานโดยถูกความร้อนแสงแดดและสารเคมีบ่อยๆ อาจเปราะแตกง่าย สีซีดจางหรือถลอกได้ จึงควรเปลี่ยนใหม่หากหมวกที่ใช้มีลักษณะชำรุดดังกล่าว
สมาคม ISEA ยังให้คำแนะนำต่อไปอีกว่า หากหมวกนิรภัยที่ใช้ไม่สามารถลดแรงกระแทกได้ดีควรรีบเปลี่ยนหมวกใหม่แม้ว่าจะไม่มีอาการชำรุดเสียหายใดๆ เมื่อมองจากภายนอกก็ตาม นอกจากนี้หากพบว่าหมวกนิรภัยที่ใช้อยู่ไม่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ควรหยุดใช้ทันทีและทำลายทิ้งเสีย เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยควรเลือกใช้หมวกนิรภัยที่เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานเท่านั้น ตัวอย่าง เช่น หมวกกันกระแทก (BUMP CAP) ควรใช้เฉพาะเมื่ออยู่ในสถานที่แคบๆ เช่น ใต้ท้องรถ แทนที่จะใช้หมวกปีกกว้างซึ่งดูเกะกะเกินไปสำหรับสถานที่ดังกล่าวแม้ว่าหมวกนิรภัยแบบ (BUMP CAP) นี้ จะไม่มีเครื่องยึดหมวกหรือสายรัดหมวก แต่ก็สามารถป้องกันศีรษะไม่ให้กระทบกับขอบโลหะ แง่ตะปู หรือของแข็งอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดบาดแผลที่ศีรษะได้
มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการป้องกันการกระทบกระแทกเล็กๆ น้อยๆ ที่ศีรษะในระหว่างปฏิบัติงานว่า การซื้ออุปกรณ์ป้องกันภัยหรือหมวกนิรภัยให้พนักงานใช้ จะช่วยในการเพิ่มยอดการผลิตและลดค่าชดเชยที่ต้องจ่ายให้แก่พนักงานเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้มาก เนื่องจากโดยปกติเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับพนักงานจะถูกส่งตัวไปที่คลีนิคหรือโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการสูญเสียทั้งเวลาและเงินมากกว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อหมวกนิรภัยมาก ซึ่งในบางรายการรักษาพยาบาลอาจใช้เวลานานกว่า 1 ปี ขึ้นไป
ควรตรวจสอบดูว่าสายรัดศีรษะอยู่ในสภาพทนทานใช้งานได้ดีหรือไม่ สายรัดศีรษะมิได้มีประโยชน์เพียงแค่ช่วยให้สวมหมวกได้พอดีกับกะโหลกศีรษะเท่านั้น แต่ยังช่วยยึดตัวหมวกให้กระชับไม่หล่นหรือปลิวหลุดไปเมื่อมีวัตถุตกลงมากระแทกศีรษะอีกด้วย
หมวกนิรภัยในปัจจุบัน มีการออกแบบเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์นิรภัยอื่นๆ เช่น แว่นครอบตา เครื่องป้องกันเสียง เครื่องป้องกันใบหน้า หรืองานเชื่อมโลหะ เป็นต้น
ประการสุดท้ายที่ควรทราบคือ การสวมใส่ชุดคลุมศีรษะ (HOOD) นั้น ควรสวมอยู่เหนือเปลือกหมวก ในขณะที่แผ่นซับใน (LINERS) ควรสวมใส่อยู่ภายในหมวก
ชุดคลุมศีรษะอาจสวมอยู่เหนือหมวกหรือสวมแยกต่างหากก็ได้ บางครั้งยังสามารถยึดกับเสื้อโดยใช้กระดุม ซิปหรือตะขอเกี่ยว
ส่วนแผ่นซับในจะมีรูปแบบต่างๆ กันไปตั้งแต่แบบคาดศีรษะ คาดหู ต้นคอ แบบแผ่นคาดปิดปากและจมูก และแบบที่สามคือ ชนิดที่เป็นรัดใต้คาง คอหรืออก เป็นต้น วัสดุที่ใช้ทั้งพลาสติก ผ้าฝ้าย ขนสัตว์ไปจนถึงขนแกะ บางอย่างอาจเป็นทั้งวัสดุทนไฟและกันน้ำได้ด้วย
ชุดคลุมศีรษะและแผ่นรองในหมวกมีหลายแบบหลายชนิด และใช้วัสดุต่างๆ กัน ทั้งนี่ขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ใช้และสภาวะอากาศ วัสดุที่ใช้มีทั้งพลาสติกใสน้ำหนักเบาไปจนถึงวัสดุบุสำลีหรือซับในหลายๆ ชั้น
โดยทั่วๆไปแล้วแผ่นซับในแบบต่างๆ จะมีประโยชน์ในการปกป้องอากาศเย็น แต่บางชนิดอาจออกแบบเพื่อใช้กับความร้อน รังสี หรือฝุ่นทรายก็ได้
การตรวจตราและดูแลรักษา
ตลอดเวลาที่ใช้งาน ควรหมั่นตรวจดูว่ารองในหมวกมีการฉีกขาดเสียหายหรือไม่ นอกจากนี้ยังควรตรวจสอบดูว่ามีรอยแตกร้าว ขาดลุ่ยหรือสภาพชำรุดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอที่ยึดส่วนต่างๆ ของหมวกว่ายังอยู่ในสภาพดีหรือไม่ สภาพเสียหายของหมวกอาจเกิดจากน้ำมันใส่ผม เหงื่อไคล หรือการชำรุดเก่าขาดตามปกติ
สมาคม ISEA แนะนำว่า ควรเปลี่ยนรองในหมวกอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้งสำหรับหมวกที่ใช้ในสภาพงานทั่วไป
การตรวจสอบและทำความสะอาดหมวกโดยสม่ำเสมอจะช่วยยืดอายุการใช้งานของหมวกให้นานขึ้น การทำความสะอาดทำได้โดยใช้ฟองน้ำหรือแปรงอ่อนๆ ชุบผงซักฟอกเช็ดถูหมวกนิรภัย ซึ่งแต่ละบุคคลอาจเลือกไปใช้ให้เหมาะสมกับชนิดของผลิตภัณฑ์หรือวัสดุที่ใช้
วิธีที่ดีที่สุดคือ ควรปรึกษากับผู้ผลิตหมวกโดยตรง เมื่อมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น พึงระลึกเสมอว่า:
1. ไม่ควรสอดใส่วัตถุต่างๆ เช่น ซองบุหรี่ไว้ในหมวก ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสมรรถภาพในการรับแรงกดหรือแรงกระแทกของหมวกได้ นอกจากนี้ภายในหมวกจะต้องไม่มีของแข็ง เช่น ลวด หรือตะปู ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อหนังศีรษะ
2. ไม่ควรเจาะเปลือกหมวก เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้การระบายอากาศดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ค่าความเป็นฉนวนไฟฟ้าและความสามารถในการรับแรงกระแทกของหมวกหายไปอีกด้วย
3. ควรระมัดระวังในการเลือกสีที่ใช้ทาหมวก โดยเฉพาะหมวกที่ใช้กันกระแสไฟฟ้าแรงสูง เพราะอาจมีผลต่อความเป็นฉนวนรองตัวหมวกได้ ควรปรึกษาผู้ผลิตโดยตรงเพื่อเลือกสีให้เหมาะสมกับชนิดของหมวก
4. ไม่ควรวางหมวกไว้ใกล้หน้าต่างท้ายรถยนต์หรือรถบรรทุก เพราะแสงแดดอาจทำให้หมวกเสื่อมคุณภาพลงได้ นอกจากนี้เมื่อหยุดรถโดยกระทันหันหมวกอาจกระเด็นมากระแทกร่างกายอาจเป็นอันตรายได้ ควรมีช่องหรือราวไว้แขวนหมวกโดยเฉพาะในรถ
5. หากหมวกเก่าหรือสกปรกให้ถอดส่วนประกอบต่างๆ ออกมาทำความสะอาด โดยใช้น้ำสบู่อุ่นๆ เช็ดถูหมวกรองในหมวก เปลี่ยนสายรัดคางใหม่ และฆ่าเชื้อโรค โดยจุ่มลงในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 1400F ประมาณ 3 นาที หรือล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อก็ได้ หากเช็ดถูรุนแรงเกินไป อาจทำให้หมวกขูดข่วนหรือมีรอยถลอกได้ จึงควรทำตามข้อแนะนำของผู้ผลิตในการทำความสะอาดหมวกโดยเคร่งครัด
6. หมวกนิรภัยที่ชำรุดควรเปลี่ยนใหม่ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวกชนิดที่ใช้กันไฟฟ้าแรงสูง ISEA ชี้ให้เห็นว่า หมวกนิรภัยเป็นแบบที่เหมาะสมกันที่สุดในการป้องกันอันตรายใน ระหว่างการปฏิบัติงานและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน หากให้การบำรุงรักษาและตรวจสอบอยู่อย่างสม่ำเสมอ
การทดสอบคุณภาพของหมวกแบบต่างๆ โดยการทดลองใช้ไฟฟ้าแรงสูงส่องลงบนหมวกในระยะ 16 นิ้ว เท่าๆ กัน วัดอุณหภูมิภายนอกเปลือกหมวกได้ 1000 F ผลการทดลองพบว่า อุณหภูมิภายในหมวกที่ทำด้วยผ้าเย็นกว่าอุณหภูมิภายนอก 20 F ในขณะที่หมวกซึ่งทำด้วยวัสดุชนิดแข็ง จะมีอุณหภูมิภายในหมวกต่ำกว่าอุณหภูมิภายนอกถึง 120 F แสดงให้เห็นว่าการสะท้อนความร้อนกลับและการระบายอากาศของหมวกชนิดแข็งจะช่วยป้องกันความร้อนได้ดีกว่าหมวกผ้า
อุปกรณ์ป้องกันศีรษะ (HEAD PROTECTIVE EQUIPMENTS)
อุปกรณ์ป้องกันศีรษะ โดยทั่วไปที่ใช้กันอยู่นั้นก็คือ หมวกนิรภัย (SAFETY HATOR OR SAFETY CAP) แบ่งออกได้ตามลักษณะการใช้งานเป็น 4 ประการด้วยกัน คือ:
1. หมวกนิรภัยชนิด CLASS G: ใช้ในงานก่อสร้าง งานทั่วไป โดยมากทำด้วยพลาสติก
2. หมวกนิรภัยชนิด CLASS E: ใช้ในงานกันไฟฟ้าแรงสูง ก่อสร้างทั่วไป โดยมากทำด้วยพลาสติก
3. หมวกนิรภัยชนิด CLASS C: ใช้ในงานขุดเจาะน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน แก๊ส โดยมากทำด้วยโลหะ
4. หมวกนิรภัยชนิด CLASS D: ใช้ในงานดับเพลิง งานเหมือง โดยมากทำด้วยพลาสติกหรือ ไฟเบอร์กลาส
1. คุณสมบัติของหมวกนิรภัย CLASS G
1.1 มีระยะห่างระหว่างยอดหมวกด้านในกับรองในหมวก (CROWN CLEARANECE) ไม่น้อยกว่า 30 มม.
1.2 สามารถต้านทานแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับได้ 2,200 โวลท์ (รูทมีนสแควร์) ที่ความถี่ 50 เฮิกรซ์ เป็นเวลา 1 นาที โดยมีกระแสไฟฟ้ารั่วผ่านหมวกไม่เกิน 3 มิลลิแอมแปร์
1.3 ค่าแรงกระแทกสูงสุดที่ส่งผ่านหมวกแต่ละใบไม่เกิน 4,448 นิวตัน และค่าเฉลี่ยแรงกระแทกที่ส่งผ่านหมวกต้องไม่เกิน 3,781 นิวตัน
1.4 ความต้านทานต่อการเจาะ (PENETRA TION RESISTANCE): รอยเจาะที่เกิดขึ้นบนหมวกต้องลึกไม่เกิน 10 มม. โดยคิดรวมความหนาของหมวกด้วย
1.5 น้ำหนักเปลือกหมวกและรองในหมวกรวมกันต้องไม่เกิน 420 กรัม
1.6 สภาพการติดไฟ (FLAMMABILITY) ส่วนที่บางที่สุดของหมวกนิรภัยต้องติดไฟด้วยความเร็วไม่เกิน 75 มม. ต่อนาที
1.7 การดูดซับน้ำ (WATER ABSORBTION) สามารถดูดซึมน้ำได้ไม่เกินกว่าร้อยละ 5 โดยน้ำหนัก
1.8 ความคงรูปความขวาง (LATERAL RIGIDITY)
เมื่อนำหมวกมาทดสอบโดยใช้แรงกดเริ่มต้น 30 นิวตัน แล้วเพิ่มแรงกดจนกระทั่งถึง 430 นิวตัน ผลต่างของการเสียรูปของหมวกในสองกรณีดังกล่าวต้องไม่เกิน 40 มม. และเมื่อลดแรงกดกลับมายัง 30 นิวตัน แล้วผลต่างของการเสียรูปอย่างถาวรของหมวกที่แรงกด 30 นิวตัน ในครั้งแรกและครั้งหลังต้องไม่เกิน 15 มม. โดยที่หมวกต้องไม่ปรากฏว่ามีรอยแตกร้าว
2. คุณสมบัติของหมวกนิรภัย CLASS E
2.1 มีระยะห่างระหว่างยอดหมวกด้านในกับรองในหมวก (CROWN CLEARANECE) ไม่น้อยกว่า 30 มม.
2.2 ต้องสามารถต้านแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับ 20,000 โวลท์ (รูทมีนสแควร์) ความถี่ 50 เฮิกรซ์ เป็นเวลา 3 นาที ได้โดยมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลผ่านหมวกไม่เกิน 9 มิลลิแอมแปร์ และแรงดันไฟฟ้าเสียสภาพฉับพลัน (BREAKDOWN VOLTAGE) ต้องไม่น้อยกว่า 30,000 โวลท์ (รูทมีนสแควร์)
2.3 ค่าแรงกระแทกสูงสุดที่ส่งผ่านหมวกแต่ละใบไม่เกิน 4,448 นิวตัน และค่าเฉลี่ยแรงกระแทกที่ส่งผ่านหมวกต้องไม่เกิน 3,781 นิวตัน
2.4 ความต้านทานต่อการเจาะ (PENETRA TION RESISTANCE): รอยเจาะที่เกิดขึ้นบนหมวกต้องลึกไม่เกิน 10 มม. โดยคิดรวมความหนาของหมวกด้วย น้ำหนักของเปลือกหมวกรวมทั้งรองในหมวกต้องไม่เกิน 435 กรัม
2.5 น้ำหนักเปลือกหมวกและรองในหมวกรวมกันต้องไม่เกิน 420 กรัมเหมือน
2.6 การดูดซึมน้ำ : สามารถดูดซึมน้ำได้ไม่เกินกว่าร้อย 0.5 โดยน้ำหนัก
2.7 การดูดซับน้ำ (WATER ABSORBTION) สามารถดูดซึมน้ำได้ไม่เกินกว่าร้อยละ 5 โดยน้ำหนัก
3. คุณสมบัติของหมวกนิรภัย CLASS C
3.1 มีระยะห่างระหว่างยอดหมวกด้านในกับรองในหมวก (CROWN CLEARANECE) ไม่น้อยกว่า 30 มม.
3.2 ไม่เป็นฉนวนไฟฟ้า
3.3 ค่าแรงกระแทกสูงสุดที่ส่งผ่านหมวกแต่ละใบไม่เกิน 4,448 นิวตัน และค่าเฉลี่ยแรงกระแทกที่ส่งผ่านหมวกต้องไม่เกิน 3,781 นิวตัน
3.3 ความต้านทานต่อการเจาะ (PENETRA TION RESISTANCE): รอยเจาะที่เกิดขึ้นบนหมวกต้องลึกไม่เกิน 10 มม. โดยคิดรวมความหนาของหมวกด้วย
3.4 น้ำหนักเปลือกหมวกและรองในหมวกรวมกันต้องไม่เกิน 420 กรัม
3.5 สภาพการติดไฟ (FLAMMABILITY) ส่วนที่บางที่สุดของหมวกนิรภัยต้องติดไฟด้วยความเร็วไม่เกิน 75 มม. ต่อนาที
3.6 การดูดซับน้ำ (WATER ABSORBTION) สามารถดูดซึมน้ำได้ไม่เกินกว่าร้อยละ 5 โดยน้ำหนัก
3.7 ความคงรูปความขวาง (LATERAL RIGIDITY)
4. คุณสมบัติของหมวกนิรภัย CLASS D
4.1 มีระยะห่างระหว่างยอดหมวกด้านในกับรองในหมวก (CROWN CLEARANECE) ไม่น้อยกว่า 30 มม.
4.2 สามารถต้านทานแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับได้ 2,200 โวลท์ (รูทมีนสแควร์) ที่ความถี่ 50 เฮิกรซ์ เป็นเวลา 1 นาที โดยมีกระแสไฟฟ้ารั่วผ่านหมวกไม่เกิน 3 มิลลิแอมแปร์
4.3 ค่าแรงกระแทกสูงสุดที่ส่งผ่านหมวกแต่ละใบไม่เกิน 4,448 นิวตัน และค่าเฉลี่ยแรงกระแทกที่ส่งผ่านหมวกต้องไม่เกิน 3,781 นิวตัน
4.4 ความต้านทานต่อการเจาะ (PENETRA TION RESISTANCE): รอยเจาะที่เกิดขึ้นบนหมวกต้องลึกไม่เกิน 10 มม. โดยคิดรวมความหนาของหมวกด้วย
4.5 น้ำหนักของเปลือกหมวก รวมทั้งรองในหมวก ต้องไม่เกิน 840 กรัม
4.6 สภาพการติดไฟ : ส่วนที่บางที่สุดของหมวกเมื่อติดไฟแล้วต้องสามารถดับได้เอง
4.7 การดูดซับน้ำ (WATER ABSORBTION) สามารถดูดซึมน้ำได้ไม่เกินกว่าร้อยละ 5 โดยน้ำหนัก
4.8 ความคงรูปความขวาง (LATERAL RIGIDITY)